****** ภาควิเคราะห์ “ไม่มีหรอกผี ไม่มีหรอกปีศาจ มีแต่คุณแม่ผู้วิตกกังวล” ใน…. Huesera: The Bone Woman / 2023 (สิงร่างหักกระดูก) 😊

ก่อนอื่น อยากจะบอกว่า…. ชอบใบปิดตัวนี้ครับ

Huesera: The Bone Woman / 2023 เป็นหนังสยองขวัญสาย Genres: Drama-Horror ความยาว 1.37 ชั่วโมงจากประเทศเม็กซิโก-เปรู ผลงานการกำกับของ Director: Michelle Garza Cervera

โครงเรื่องหลักๆของหนังบอกเล่าถึง วาเลเรีย (รับบทโดย Natalia Solián) คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ จนอยู่มาวันหนึ่งนางเริ่มรู้สึกว่า ถูกบางสิ่งบางอย่างไล่ล่าอย่างบ้าคลั่ง มันใช่มนุษย์ แต่เป็นคำสาปโบราณของ “ผีสาวไร้หน้าหักกระดูก” ตำนานนิทานพื้นบ้านในประเทศเม็กซิโก เรื่องย่อของหนัง เล่าไว้แค่นี้ หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคนดูที่จะต้องรับชม และค้นหาคำตอบกันเอาเอง ว่าสุดท้าย หนังจะจบลงอย่างไร

****** #ตรงนี้มีสปอยล์ ******

นางเอกของเรื่องโดนอะไรไล่ล่ากันแน่

มันเหมือนคนโดนสิง ตกจากที่สูง จนกระดูกหักไปทั้งร่าง แล้วก็คลานช้าๆไปบนพื้นอย่างน่าสยดสยองพองขนหัว

จากนั้นหนังก็นำเข้าสู่พิธีกรรม-กระบวนการแก้-ล้างอาถรรพ์-คำสาปของผู้ไล่ล่า ด้วยมนต์ดำโบราณแบบที่ชาวเม็กซิโก-เปรู เขาทำกัน ใช้ใบไม้-กิ่งไม้ปัดเป่าเสนียดจัญไร, ใช้กำยานควันธูป, ใช้บทสวด, และใช้ไฟ ในการทำลายล้าง

อันนี้คือมุมมองในแบบผู้ชม ที่กำลังซึมซับรับรู้ รากวัฒนธรรมในแบบอเมริกาใต้ เป็นพิธีกรรมของพ่อมดหมอผี ที่เชื่อกันว่าจะสามารถรักษา ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้นให้ออกจากร่างกายของผู้ถูกสิงสู่ได้ (พิธีกรรมคล้ายๆการไล่ผีในไทย, หรือไม่ก็การสวดพานยักษ์-ในแบบลดทอนพิธีกรรม)

มองต่างมุม : แล้วถ้ามันไม่ใช่เรื่องของการทรงเจ้าเข้าผี คำสาปล่ะ พฤติกรรม สิ่งที่ได้เห็นในหนัง มันคืออะไร?

เป็นไปได้ไหม มันคือจุดเริ่มต้นด้วย “ทรอมา” (Trauma), จากนั้นอาการลามไปสู่กลุ่มอาการ “อารมณ์เครียดของเบญจนารี” (ในกลุ่มที่ 3-4), แล้วลามไปที่ “โรคเกลียดเสียง” หรือ “โรคมีโซโฟเนีย” (Misophonia), จบลงด้วยอาการสติหลุด “คลั่ง” (Delirium) จนปลดปล่อยอีกตัวตนออกมา Dissociative Identity Disorder (DID) กระทำบางอย่างลงไป แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว (หรือไม่ก็อาจจะเป็นผลพวงมาจาก Mass Hysteria และเข้าสู่โหมดกระบวนการ Dissociative Actions เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ความตึงเครียด)

สังเกต…. นางเอกของเรื่อง วาเลเรีย คือคู่แต่งงานใหม่ ที่พื้นหลัง นางมีอดีตบางอย่างที่ดำมืด แต่ซ่อนแอบเอาไว้ภายใน มันคือเรื่องราวสมัยวัยรุ่นที่นางเสเพลสุดๆ เที่ยว เมา ติดบุหรี่ เสพฯยา มีเซ็กซ์แบบเลสเบียนกับเพื่อนสาวคนสนิท

การที่จู่ๆก็มาแต่งงานกับผู้ชาย และกำลังจะมีลูกด้วยกัน มันเลยกลายมาเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงในชีวิต คือความเครียดที่ผู้หญิงคนหนึ่งรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลง

แน่นอน “ทรอมา” (Trauma) บาดแผลในใจจากครั้งอดีต ตามมาหลอกหลอนนางแบบไม่หยุด จากการที่หนังตัดสลับระหว่างโลกปัจจุบัน และโลกในห้วงอดีต ความนึกคิดอันฝังใจของนางอยู่บ่อยๆ นั่นคือบาดแผลที่นางยังคงเก็บซ่อนเอาไว้ ภายในหัวใจ ตลอดมา

เมื่อแต่งงาน เริ่มตั้งครรภ์อ่อนๆ ทุกอย่างเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งรูปร่าง สถานะรอบตัว ทำให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ตกอยู่ในภาวะเครียด ดังที่คุณกิติกร มีทรัพย์ (นักจิตวิทยา) เคยอธิบายเอาไว้ ดังนี้

“อารมณ์เครียดของเบญจนารี
กลุ่มที่ 3 ว่าที่คุณแม่มือใหม่ : สตรีที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกทั้งหลายนั้น ฝรั่งถือกันว่าเป็นเหยื่ออันโอชะของเหล่าแม่มดหรือมารร้ายที่จะทำให้เธอผู้ตั้งครรภ์ถึงชีวิตได้เมื่อการคลอดมาถึง หรือทำให้เกิดความยุ่งยากสารพัดสารพัน คติของไทยเราก็คล้ายๆกัน คือฤทธิ์ของผีจะเข้ามาเกี่ยวของ ดังนั้นกระบวนการเกิดจึงเป็นเรื่องชวนให้เครียดได้ง่าย ยิ่งได้รู้เรื่องแม่นาคพระโขนงผู้ตายเพราะคลอดลูก ก็ทำให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่หวั่นไหวในอารมณ์มากทีเดียว ฝรั่งเขาบอกว่า เป็นซาดิสต์ทางใจที่รุนแรงเหลือเกิน

กลุ่มที่ 4 คุณแม่มือใหม่หลังคลอด-มาม่า บลูส์ : คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายมักมีอารมณ์เศร้าเสมอ ซึ่งก็มีเหตุหลายเหตุด้วยกัน เช่น ไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงลูกให้ดีได้ มีความกลัวว่าสามีจะคลายความรักตนเอง แล้วหันไปรักลูกแทน แล้วอาจกลัวไกลออกไปว่า เขาจะไปปันใจให้คนอื่นอีกด้วย เมื่อความกลัวเข้าจู่โจมแบบนี้ คุณแม่มือใหม่ย่อมเครียดและเศร้าในอารมณ์เป็นอย่างมาก กลายเป็นมาม่า บลูส์ไป” (กิติกร มีทรัพย์ / นักจิตวิทยา / อ้างอิงใน ซีโนโฟเบีย)

ก็อธิบายเอาไว้ชัดนะ สำหรับพฤติกรรมของสาวเจ้าวาเลเรียที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

จากนั้น หลังคลอด อาการมันก็ลามไปที่ “โรคเกลียดเสียง” หรือ “โรคมีโซโฟเนีย” (Misophonia) ใช่…. นางเกลียดเสียงเด็กร้อง เกลียดลูกของตัวเองที่กำลังมาแย่งความรักจากแฟนหนุ่ม ตรงนี้สิที่นางทนทุกข์ทรมานเอามากๆ

กระทั่ง นางทนต่อเสียงของเด็กร้องในช่วงกลางดึกไม่ไหว เกิดอาการ…. “คลั่ง” (Delirium) จนปลดปล่อยอีกตัวตนออกมา Dissociative Identity Disorder (DID) กระทำบางอย่างลงไป แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ลุกออกจากเตียงนอน เดินไปอุ้มลูกของตัวเองมายัดใส่ตู้เย็น กระทำลงไปแบบที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มึนงง กระทั่งรุ่งเช้า จึงได้สติกลับคืนมาอีกครั้ง

ผมถึงบอกไงล่ะว่า หนังเรื่องนี้ Huesera: The Bone Woman / 2023 (สิงร่างหักกระดูก) “ไม่มีหรอกผี ไม่มีหรอกปีศาจ มีแต่คุณแม่ผู้วิตกกังวล” แค่นั้นจริงๆ ยิ่งแก้ไขด้วยไสยศาสตร์-มนต์ดำ (ซึ่งคนในครอบครัวนี้เชื่อกัน / Animism) มันยิ่งไปซ้ำเติม Trauma ที่มีมาเก่าก่อน นางเลยยิ่งทิ้งดิ่งลงก้นหุบเหวไง สุดท้ายครอบครัวนี้ก็แตกสลาย ต้องแยกทางกัน เพราะปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ มันคืออารมณ์เครียดวิตกกังวลของคุณแม่มือใหม่ ที่มิอาจหลุดออกมาจากกรอบ-รากขนบตัวตนแต่ครั้งอดีตได้ ก็แค่นั้นจริงๆ….

**** #สรุปว่า : เรื่องนี้ไม่มีผีหรือปีศาจอะไรทั้งสิ้น เป็น Mass Hysteria (อุปทานหมู่) ของคนในครอบครัวนี้ล้วนๆ เป็นอารมณ์ตึงเครียดแบบขีดสุดของหญิงสาว อันนำไปสู่กระบวนการ Dissociative Actions (กลไกทางจิตที่ปรับเปลี่ยนให้เกิดอาการทรงเจ้าเข้าผีแบบอัตโนมัติ) เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด มันคืออาการเจ็บป่วยทางจิตของคนเป็นแม่ล้วนๆ ประกอบกับอิทธิพลของครอบครัวที่ฝังรากลึกชอนไชกับคตินิยมแลความเชื่อแบบเก่าก่อนโบราณนานมา เลยทำให้เกิดผีขึ้นมาใน “มโนสำนึก” ของนาง

เอวังด้วยประการละฉะนี้แล….

#แอดมินซามาร่า 😊