****** นัตกะด่อ (ผีนัต) วัฒนธรรม LGBTQ สื่อวิญญาณในพม่าประเทศ 😊

วันนี้ พุธที่ 9 สิงหาคม 2566 หลังจากรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยดู The Only Mom / 2019 (มาร-ดา) หนังสยองขวัญจากประเทศพม่า(เมียนมาร์) โดยทีมงานผู้กำกับชาวพม่าสร้างหนังร่วมกับผู้กำกับชาวไทย (ชาติชาย เกษนัส) จนจบ กลับมีคำถามตามมาอย่างมากมาย เกี่ยวกับ “ร่างทรงของฟากฝั่งพม่า” ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ รวมถึงร่างทรงที่เคยพบเจอในประเทศพม่าจริงๆ(ตอนไปลงพื้นที่วิจัย)

โอเค ผมจะขอเล่าจากประสบการณ์ที่เคยศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมพม่า ในมุมมองของผมเอง แบบย่นย่อ….

เชื่อว่าหลายคนที่เคยดูหนังพม่าชื่อดังอย่าง The Only Mom / 2019 (มาร-ดา) เกี่ยวกับครอบครัวชาวพม่าครอบครัวหนึ่งซึ่งย้ายบ้านจากเมืองใหญ่ หนีความวุ่นวายจอแจมาปักหลักอยู่อาศัยกันในชนบทไกลปืนเที่ยง แล้วมาโดนภัยคุกคามจากผีท้องถิ่นพม่าที่ชื่อ “อะเหม่จัม” คอยตามรังควานตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน จนเจ้าของบ้านต้องไปอัญเชิญ “นัตกะด่อ” มาสื่อสาร เพื่อสงบศึกกับผี ภายในบ้านหลังใหญ่สไตล์อิงลิชโคโลเนียล มีคำถามตามมามากมาย “ผีนัตคืออะไร” และ “นัตกะด่อทำไมต้องเป็น LGBTQ เท่านั้น” ????

“นัต” / หรือ “นะ” / หรือ နတ် / บางคนก็เรียกว่า “ผีนัต”
พื้นฐานจริงๆของคำๆนี้ “นัต” ก็คือ อนิมิส (Animism) นั่นแหล่ะ
อนิมิส, อนิมา หรือลัทธิวิญญาณนิยม (ลัทธิบูชาภูตผีและดวงวิญญาณ / ความเชื่อที่ว่าธรรมชาติมีชีวิต / ธรรมชาติมีลมหายใจ) เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่แพร่หลายในหมู่คนชนบทในพม่ามาช้านาน ตราบปัจจุบันก็ยังเชื่อกันอยู่ ว่ากันว่าในป่าเขามีดวงวิญญาณของผู้พิทักษ์(เจ้าป่า) เรียกชื่อว่า “ตอซองนะ” (တောစောင့်နတ်), และวิญญาณของผู้พิทักษ์ภูเขา(เจ้าเขา) เรียกว่า “ตองซองนะ” (တောင်စောင့်နတ်), นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ในต้นไม้ใหญ่มีรุกขเทวดา เรียกว่า “ย็อกกาโซ” (ရုက္ခစိုး) / ความเชื่อเรื่องป่า ภูเขา และการบูชาต้นไม้นี้เอง ตรงนี้เข้าเค้ากับทฤษฎีว่าด้วย Animism สาย Totemism (การบูชาสัตว์ และต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์) เข้าพอดี ก็คล้ายๆกับการยกสถานะของพระศิวะในศาสนาฮินดูอยู่นะ เพราะพระศิวะในยุคกำเนิด(ยุคก่อนพระเวท) ท่านก็กำเนิดในป่าลึก ดุร้าย เข่นฆ่า กินคนเป็นอาหาร บางคนก็เรียกท่านว่าเป็นปีศาจร้ายในป่าลึกนาม “รุทร” ต่อมาพอยกสถานะทางศาสนาเรื่อยๆ จากยุคก่อนพระเวท ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ยุคพระเวท ฯลฯ พรหมณ์ และฮินดู / รุทรที่โหดร้ายก็ยกสถานะตาม ถูกบูชาเซ่นสรวงขอเข้าเป็นพวกด้วยเหล่าสาวก กลายมาเป็น ตรีมูรติ, ปรมาตมัน, และอิศวร (ศิวะ) ระบบก็มีความคล้ายๆกัน

ว่ากันว่าหลังจากนั้น ความเชื่อเรื่องนัตก็แพร่กระจายไปทั่วทั้งพม่าประเทศ นัตได้รับการยกระดับจากผีขึ้นมาเป็น “กึ่งเทพ” และเป็น “เทพเจ้า” ในบางองค์ (แต่ที่คนไทยรู้จักกันเยอะที่สุดก็น่าจะเป็น “เทพทันใจ” นั่นแหล่ะ ผีนัตอีกตน)

หลังจากมีการยกระดับ ยกฐานะของนัตขึ้นมา ก็มีการสร้างนัตที่เป็นหัวหน้าของนัตทั้งปวงขึ้นมา 1 ตน นัตตน(องค์)นี้มีชื่อว่า “ตะจามิน” (ท้าวสักกะ) ถือเป็นเจ้าแห่งนัตทั้งปวง (บางความเชื่อในพม่าก็ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 พระโคตะโม หรือสมณโคดม ก็คือ นัตในระดับสูงสุด อีกองค์)

นัตในความเชื่อของคนพม่าส่วนใหญ่ เชื่อว่ามี 37 สาย(ตน) แต่ละตน ก็มีรูปลักษณ์ ให้พรแตกต่างกันในแต่ละสาขา เช่น นัตบางตนชาวบ้านบูชาเพราะให้โชคลาภ, นัตบางตนชาวบ้านบูชาเพราะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้, หรือนัตบางตนบูชาเพราะทำให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ฯลฯ

คนใหญ่ๆโตๆในพม่า, นักบวชที่มีคนเลื่อมใส, พระเจ้าแผ่นดิน, พระบรมวงศานุวงศ์, นายทหาร, เจ้านายชั้นปกครอง, คนเฒ่าคนแก่ที่มีผู้คนเลื่อมใส, บรรพบุรุษของตระกูล, หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กำเนิดแบบ “อจินไตย” ทุกท่านสามารถกำเนิดเป็นนัตได้หมด โดยมีความเชื่อเพิ่มเติมอีกว่าภูเขาโปปา (คนไทยเรียกภูเขาบุปผา) ในพุกาม ภูมิภาคมัณฑะเลย์ คนพม่าเชื่อว่าภูเขาแห่งนี้ คือ “มหาคีรีนัต” และนัตทั่วทั้งจักรวาลตามความเชื่อของพม่า จะมาสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ถือเป็นสถานที่ไหว้นัตที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพม่า

ตรงนี้เอง ผมเลยมองว่า ระบบการเกิดของนัต คล้ายๆกับ ระบบการเกิดของ “ทวด” (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภาคใต้ของไทย และในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย) รวมถึงคล้ายความเชื่อเรื่องพญาแถน(ผีฟ้า / ผีแถน) ของชาวอีสาน ซึ่งก็มีส่วนแยกออกไปเป็นแต่ละสายอย่างชัดเจน

สรุปว่า “นัต” ในความเชื่อของคนพม่าก็คือผีกึ่งเทพ หรือบางตนก็กลายเป็นเทพแบบเต็มตัว ให้คุณให้โทษได้ คล้ายระบบของ “ทวด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภาคใต้ และ “ผีแถน” ของทางภาคอีสานของไทย นั่นแหล่ะ เหมือนกัน

“นัตกะด่อ” คืออะไร
“นัตกะด่อ” / หรือ “นัตกะดอว์” / หรือ “นะกะด่อ” / ภาษาพม่าเขียนว่า နတ်ကတော် / ภาษาอังกฤษใช้คำนี้ “Nat kadaw”

นัตกะด่อ คือ “คนทรง” หรือ “ร่างทรงพม่า”
คนพม่ามีความเชื่อ หรือระบบรากความเชื่อคล้ายกับอินเดีย (อีกล่ะ) ที่ว่า มนุษย์ที่เกิดมาผิดเพศ (ชาย แต่ใจเป็นหญิง) จะมีความสามารถพิเศษในการสื่อสารกับโลกของวิญญาณได้ ในอินเดีย เรียกชายใจเป็นหญิงว่า “ฮิจรา” (Hijra) และก็เชื่อว่า คนในกลุ่มฮิจรานี้เอง มีพลังอำนาจสื่อสารกับโลกของวิญญาณได้ สามารถให้พรได้ แต่หากสาปแช่งใครคนนั้นจะมีอันเป็นไป อันนี้เป็นความเชื่อของคนอินเดีย คนไทยที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวอินเดีย หากสังเกตดีๆ ตามแหล่งท่องเที่ยว บางครั้งอาจจะได้เจอชายแต่งส่าหรี(LGBTQ) มาเดินขอเงิน ถ้าใครหยิบเงินให้ไปในจำนวนที่นางพอใจ นางก็จะให้พร ถ้านางไปขอแต่เราให้ไม่ให้ นางก็จะสาปแช่ง ทำให้เราเกิดความเป็นกังวล(คำพูดสาปแช่งอันทรงพลัง “มานา” / Mana) แต่ถ้าใครไม่สนใจ ก็ไม่มีอะไรหรอกนะ ถ้าไม่เชื่อ คือไม่มีผลอะไร แต่ถ้าเชื่อ ก็ควรจ่ายเงินนางไป ไม่กี่ตังค์หรอกครับ

“นัตกะด่อ” หรือ နတ်ကတော် ง่ายๆ ก็คือร่างทรงพม่านั่นแหล่ะครับ คนพม่าเชื่อว่า LGBTQ (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) ที่แต่งชายเป็นหญิง ร่ายรำเป็น อ่อนช้อย สวยงาม ขับร้องได้ มีความสามารถพิเศษสื่อสารกับวิญญาณคนตาย สื่อสารกับอีกโลกหนึ่งได้ ใครไปเที่ยวพม่า หรือดูผ่านสารคดี จะเจอบ่อย เวลาคนพม่าจะสื่อสารกับบรรพบุรุษ หรือคนตาย เขาจะใช้ให้ “นัตกะด่อ” เป็นทูตตัวแทนสื่อให้ และนัตกะด่อก็ต้องเป็นชายแต่งหญิงเท่านั้นด้วยนะ คนพม่าจึงจะเชื่อว่าสื่อสารได้จริง มีความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ / นัตกะด่อจะมีศาล หรือตำหนักเป็นของตนเอง ใครอยากบวงสรวงก็ให้ไปในแต่ละตำหนัก ปีหนึ่งๆจะมีบวงสรวงใหญ่เสียครั้ง เครื่องเซ่นจะถูกใส่ลงในเครื่องสานไม้ไผ่ ถวายด้วยการทูนไว้เหนือศีรษะของผู้ศรัทธา เคยเห็นบางวัดในพม่าก็มีการบวงสรวงนัตกันด้วย นัต-นัตกะด่อ-และศาสนาพุทธในพม่า เลยหลอมรวมกันแทบจะกลายเป็นหนึ่งเดียว ผสมผสานระหว่าง พุทธ-ผี-ฮินดู-ความเชื่ออื่นๆ คล้าย “ศาสนาไทย” (พุทธในแบบไทยๆ)ในปัจจุบัน

“นัตกะด่อ” ที่ปรากฏในหนังสยองขวัญจากพม่าเรื่อง The Only Mom / 2019 (มาร-ดา) มาเพื่อสื่อสารกับคนตายภายในบ้านหลังใหญ่สไตล์อิงลิชโคโลเนียล ในหนังเรื่องนี้ ก็ใช่ นี่แหล่ะ ภาพลักษณ์ของ “นัตกะด่อ” (ผีนัต) วัฒนธรรม LGBTQ สื่อวิญญาณในพม่าประเทศ

เขียน : ดร.คุณาพร ไชยโรจน์