บทความ  :  ตำนาน-อำนาจแห่งความเชื่อ-และวิวัฒนาการของจดหมายลูกโซ่

ถ้าพูดถึงจดหมายลูกโซ่…คุณนึกถึงอะไร?

จดหมายลูกโซ่ฉบับแรกของโลก  :  ในหนังสือชื่อ  FIELD GUIDE TO LUCK แต่งโดย ALYS R. YABLON ซึ่งคุณปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล ได้นำต้นฉบับมาแปลจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมตั้งชื่อให้หนังสือเล่มนี้ในฉบับภาคภาษาไทยว่า “มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องรางและเคล็ดลับนำโชค” ท่านได้อธิบายถึงตำนานจดหมายลูกโซ่ของฝรั่งเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีคนเขียนจดหมายลูกโซ่แพร่หลายทั่วไปในยุโรป เรียกร้องให้สนับสนุนการศึกษาให้กับคนที่อยู่ในแคว้นคัมเบอร์แลนด์ ท้ายจดหมายระบุว่า หาก (คัดลอก) และส่งต่อๆกันไป จะได้รับคำมั่นสัญญาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรให้ท่าน จดหมายฉบับนี้ไม่เพียงมีคนคัดลอกส่งต่อไปมากมาย ยังเขียนขึ้นในปี พ.ศ.1888 ตัวเลขของปี ค.ศ.มีลักษณะพิเศษ เหมือนสายโซ่ที่คล้องเกี่ยวกันไปเป็นทอดๆ นี่คือที่มาของเชื่อเรื่องจดหมายลูกโซ่….”

กิเลน ประลองเชิง(นามเเฝง)จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ลงวันที่ 14 ก.ย. ปี พ.ศ. 2552 เวลา 05:00 ได้อธิบายความหมายของจดหมายลูกโซ่เอาไว้เพิ่มเติมว่า  “ปี ค.ศ.1980 มีจดหมายลูกโซ่ที่เป็นข่าวเกรียวกราว คือข่าวอื้อฉาวของสูตรลับคุกกี้ของร้านชื่อดังสองแห่งในยุโรป ต้นเหตุเกิดจากลูกค้าที่ไม่พอใจบริการของร้านพยายามแก้แค้นด้วยการส่งจดหมายลูกโซ่, จดหมายลูกโซ่อีกฉบับ หญิงคนหนึ่งยากไร้แต่อยากชิมรสคุกกี้ร้านดังบ้าง ถูกปฏิเสธรุนแรงจากร้าน มีการส่งจดหมายบอกต่อๆกันไปทำนองว่า ทำไมร้านคุกกี้จึงใจจืดใจดำกับหญิงผู้น่าสงสารผู้นั้น บางฉบับ...มีคำสั่งหรือคำร้องขอให้ส่งเงินไปให้ ผู้ที่หลงเชื่อไม่เพียงเสียเงิน ยังเสียเวลา ประการสำคัญอาจถูกพ่วงชื่อรวมอยู่ในเครือข่ายผู้กระทำความผิดด้วย มีข้อสังเกตว่า หากรับแล้วส่งต่อ นั่นคือตัวการเชื่อมโยงร้อยสายโซ่ ทั้งหมดล้วนอยู่ในวิจารณญาณของตัวคุณเอง….”

จดหมายลูกโซ่ฉบับแรกในประเทศไทย  :  เชื่อว่าเป็นจดหมายลูกโซ่ที่ถูกเขียนขึ้นโดย “กบฏผู้มีบุญอีสาน” ในระหว่างปี พ.ศ. 2444-2445 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) เป้าหมายสำคัญของคนกลุ่มนี้คือ “การส่งสาร” หรือ “จดหมายลูกโซ่” เพื่อเป้าหมายบางประการ….   โดยเน้น 3 กระบวนวิธีในการสร้างจดหมายลูกโซ่ในยุคอดีต กล่าวคือ 1.) มุ่งการปล่อยข่าวลือ คำพยากรณ์  2.) มีการใช้พิธีกรรม  และ 3.) การขยายความเชื่อ  ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับ “การขยายความเชื่อ” ในจดหมายลูกโซ่นี้ หนังสือและเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมได้อธิบายเอาไว้ว่า การขยายความเชื่อ และเพิ่มจำนวนคนที่เชื่อเรื่องผู้มีบุญด้วยการคัดลอกคำพยากรณ์ซึ่งปรากฏในรูปของหนังสือผู้มีบุญ หนังสือท้าวพระยาธรรมิกราช หนังสือพระยาอินทร์ และตำนานพื้นเมืองกรุง ซึ่งการคัดลอกคำพยากรณ์ดังกล่าวนี้ก็คือวิธีการของจดหมายลูกโซ่ ในปัจจุบันนั่นเอง จึงขอสรุปคำพยากรณ์ ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันเป็น 4 แบบ ดังนี้

1. หนังสือผู้มีบุญ มีลักษณะเป็นคำพยากรณ์ว่าแต่ละเดือนจะเกิดอะไรขึ้น เช่น เดือน 9 เลือดจะท่วมเล็บช้าง ผัวเมียจะพลัดพรากจากกัน แต่ลูกที่ตายไปแล้วจะได้กลับคืน เดือน 5 ขึ้น 6 ค่ำ พระอินทร์จะมาตรวจว่าใครทำบาปแล้วลงโทษผู้นั้น ในหนังสือยังสั่งสอนให้คนรีบทำบุญ ยึดมั่นในศีล 5 เคารพพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แล้วพระอินทร์จะบันดาลให้มีแก้วแหวนเงินทองให้ ให้คัดลอกหรือบอกต่อเรื่องที่ปรากฏในหนังสือนี้ ถ้าบ้านใดไม่มีหนังสือนี้ในบ้าน ผู้คนในบ้านนั้นจะต้องตายหมด ในท้ายหนังสือนั้นระบุคาถาป้องกันตัวและคาถาเรียกเงินเข้าไหด้วย

2. หนังสือท้าวพระยาธรรมิกราช คล้ายปูมโหร กล่าวถึงผู้มีบุญ สิ่งประหลาดมหัศจรรย์ตามที่ต่างๆ เช่น ท้าวหมายุย อยู่บ้านหนองยาง พระยาลิ้นก่านอยู่บ้านหนองซำ พระเกตสัตฐาวิหาเจ้าฟ้าธรรมิกราชอยู่บ้านนาเลา ท้าวหูระมาน ท้าวบุญรอด อยู่บ้านเสียว กล้วยมีผลเป็นทองอยู่บ้านเสียว ควายมีเขาเป็นแก้วอยู่บ้านหัวดง กาเผือกกาลายอยู่บ้านหนองไฮ ตาลเจ็ดยอดอยู่บ้านเม็กน้อย จะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ มีการปล้นสะดม ทุกข์ยากกันไปทั่ว ในตอนท้ายมีคำสอนให้ทำความดี อย่าเห็นแก่เงินทอง ให้เคารพครูบาอาจารย์พ่อแม่ คนแก่คนเฒ่า ให้ยึดมั่นในศีล 5 ศีล 8 ให้ฟังธรรมและเขียนหนังสือนี้ บอกต่อๆกันไป จะได้อายุยืนและได้พบผู้มีบุญในวัน 15 ค่ำ ท้ายหนังสือระบุคาถาป้องกันตัวให้พ้นจากมารยักษ์ทั้งปวง

3. หนังสือพระยาอินทร์ ในหนังสือมีเนื้อหาอบรมสั่งสอนให้คนทำบุญทำทาน รักษาศีล 5 ศีล 8 เคารพคนแก่พ่อแม่ครูบาอาจารย์แล้วจะร่ำรวย ให้คัดลอกหนังสือเล่มนี้ไว้ หากบ้านใดไม่มีหนังสือนี้คนในบ้านจะต้องตาย เนื้อหายังกล่าวถึงยักษ์ชื่อต่างๆ ที่จะบันดาลให้เกิดความวิบัติต่างๆ เช่น เรยายักษ์จะลงมาทำให้คนตายด้วยความอดอยาก จักร์พายักษ์จะลงมาเป็นเหตุยุยงให้คนฆ่าฟันกันตาย ในตอนท้ายจะมีคำทำนายว่า ปีกุนจะเกิดแผ่นดินไหว ฟ้าร้องฟ้าผ่า จะมียักษ์มากิน ท้าวพระยาเสนาอำมาตย์และไพร่ที่ไม่ตั้งในศีลธรรม เป็นต้น ในหนังสือเล่มนี้มีคาถาให้ไว้ป้องกันตัวด้วย

เเละ 4. ตำนานพื้นเมืองกรุง มีเนื้อหาเล่าถึงความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยาซึ่งต่างไปจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามาก ตอนท้ายมีคำพยากรณ์ต่างๆ เช่น ปีมะโรงคนจะหลบหนีไปอยู่ตามป่า กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ปีมะแมพ่อลูกจะพลัดพรากจากกัน ปีระกาและปีจอจะเกิดฟ้ามืดมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ ถ้าหากต้องการพ้นภัยจะต้องรักษาศีล ทำบุญทำทาน พระยาธรรมิกราชจะให้คาถาไว้ป้องกันตัว ใครไม่เชื่อจะตายภายใน 7 วัน ใครเชื่อจะอายุยืน จะได้พบผู้มีบุญในเดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน

จะเห็นว่า “จดหมายลูกโซ่” ที่เรียกว่า “หนังสือพยากรณ์ของผู้มีบุญ” ที่กล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายกันคือ ทำนายว่าจะเกิดภัยพิบัติต่างๆ แต่ถ้าคนอยู่ในศีลในธรรม เชื่อในผู้มีบุญ ท่องคาถาของผู้มีบุญก็จะไม่เป็นอันตรายจากภัยพิบัติ

ผลของจดหมายลูกโซ่ดังกล่าวทำให้ข่าวลือของผู้มีบุญกระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะเชื่อว่าถ้าไม่คัดลอกหนังสือดังกล่าว ไม่บอกต่อแล้วจะเกิดภัยพิบัติต่างๆ การคัดลอกและการบอกต่อเป็นการกระทำที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก ในขณะที่ถ้าไม่ทำก็เสี่ยงต่อชีวิตของตนและคนในครอบครัวจะเป็นอันตราย การแพร่ของข่าวลือมีอย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นความฉลาดมากของคนที่คิดวิธีการกระจายข้อมูลข่าวสารแบบนี้ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้คิดไม่ต้องลงทุน แต่ได้ผลมากๆ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม (Innovation) ที่ล้ำสมัยมาก ยังไม่พบหลักฐานว่า ใครเป็นคนแรกที่คิด “จดหมายลูกโซ่” ที่ว่านี้ เข้าใจว่าเป็นไอเดียของกลุ่มผู้นำของกบฏผู้มีบุญที่คิดวิธีนี้ขึ้นนับเป็น “จดหมายลูกโซ่” ฉบับแรกของเมืองไทย (อ้างอิงข้อมูล : ศิลปวัฒนธรรม, 2560, หัวข้อ กบฏผู้มีบุญอีสาน 2444-2445 กับจดหมายลูกโซ่ฉบับแรกของเมืองไทย)

จดหมายลูกโซ่อีกตัวที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน  :  อาทิ จดหมายลูกโซ่ของประเทศโปรตุเกสที่ชื่อ “Teresa Fidalgo” ในตำนานเล่าว่า Teresa Fidalgo เป็นชื่อของหญิงสาวชาวโปรตุเกสนางหนึ่งที่เสียชีวิตลงในปี 1983 พอตายลงนางกลายเป็นผีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากๆในโปรตุเกส ต่อมาเริ่มมีการเปิดและส่งต่อคลิปผีชื่อ Teresa Fidalgo ออกเผยแพร่ในโลกใต้ดิน-บนดิน เรื่องราวประมาณกลางดึก มีหญิงสาวสวยนางหนึ่งยืนอยู่ข้างถนนคนเดียว แล้วพอมีคนจอดรถรับขึ้นมา ก็จะโดนหลอกจนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทุกรายไป ซึ่งต่อมามันกลายเป็นตำนานอีกหน้าหนึ่งของจดหมายลูกโซ่ที่มีเนื้อหาส่งต่อประมาณว่า “สวัสดี ฉันชื่อ Teresa Fidalgo วันนี้เป็นวันที่ฉันตายครบรอบ 26 ปี ถ้าคุณเห็นหรือได้รับจดหมายฉบับนี้แล้วไม่ส่งมันไปยังคนอีก 20 คน ฉันจะสัญญาว่าจะไปหาคุณ และนอนอยู่ข้างๆคุณในคืนนี้และตลอดไป….”

อนึ่ง  คลิป VDO ที่มีการเผยแพร่กันในโปรตุเกส ภายหลังได้มีผู้กำกับหนังสั้นสยองขวัญท่านหนึ่งออกมายอมรับว่าภาพที่ได้เห็นนั้นมันเป็นเพียงฉากๆหนึ่งในหนังสั้นของเขา….

ตัวอย่างจดหมายลูกโซ่ในประเทศไทย  :  เป็นที่ทราบว่ามีกลุ่มคน หรือบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยที่ริเริ่มส่งจดหมายลูกโซ่กันในยุคอดีต-ปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการถักทอสายโซ่เหล่านั้นให้ยังคงยั่นยืนยงอยู่แต่ครั้งสมัยปี ค.ศ. 1888 ถึงตราบปัจจุบัน  หัวข้อนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอรูปแบบ-ตัวอย่างการเขียนจดหมายลูกโซ่อันเป็นที่นิยมกันในประเทศไทยสักเล็กน้อย  ดังนี้

**** ตัวอย่างการเขียนจดหมายลูกโซ่ในประเทศไทย (รูปแบบที่ 1.)
1.ทำหลังเที่ยงคืนเท่านั้น
2.จุดธูปไว้หัวนอน 3 ดอก
3.นอนหลับตาแล้วตั้งสมาธิให้ดี
4.นึกถึงที่ๆเราจะไปเป็นอันดับแรก
5.กลั้นหายใจ10วินาที
6.จาดนั้นคุณก็จะไปในที่ที่คุณต้องการ
7.เมื่อคุณรูสึกว่ากลิ่นธูปเริ่มหายไปให้มองหาแสงสีขาวแล้วเดินเข้าไป
8.ถ้าคุณกลับไปไม่ทันคุณจะกลับไปไม่ได้อีกเลย
9.ถ้าทำเกิน 2 ครั้งอายุของคุณจะสั้นลงไปครั้งละ 99 วัน
ใครที่อ่านแล้วคิดดูให้ดีน่ะถ้าอยากจะสนุกก็ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน และนั่นก็หมายถึงชีวิตของคุณเองนั้นแหล่ะ ได้มาจากคัมภีร์ของเขมรโบราณ
คำเตือน ผู้ใดที่อ่านแล้วต้องนำไปโพสต่ออีก 5 ครั้งไม่งั้นอีก 7 วันต่อไปคุณจะมีอันเป็นไป

**** ตัวอย่างการเขียนจดหมายลูกโซ่ในประเทศไทย (รูปแบบที่ 2.)
ตำรานี้ใช้แก้โรคมะเร็ง จะหายโดยไม่คาดคิด สำหรับมะเร็งนั้นจะหายใน 6 วัน...
...(สูตรยาผีบอก ไม่ต้องไปรู้มันหรอก)...
...ตำรานี้ห้ามซื้อขายหรือคิดค่ารักษาและขออย่าได้เก็บไว้เป็นส่วนตัวเด็ดขาด หากผู้อื่นๆได้รับทราบด้วยใจศรัทธาและกุศลจิตแล้วท่านและครอบครัวจะประสบแต่ความสุข ความเจริญและสมหวังทุกประการ
ท่านเจ้าคุณนิมิตร เจ้าคุณวัดกลาง ให้ท่านบอกต่อ ยกตัวอย่างบางเรื่อง
ส.ส. จังหวัด XXXX ไม่ยอมบอกต่อถึงแก่กรรม
คุณ ต.ได้รับแล้วส่งต่อ 29 ฉบับ ท่านถูกรางวัลที่ 1 ถึง 2 ฉบับ
คุณ ก. ได้รับแล้วส่งต่อ 20 ฉบับปรากฏว่าครอบครัวป่วยกะทันหันจึงส่งต่อจนครบ 29 ฉบับ ปรากฏว่าครอบครัวหายป่วยและถูกรางวัลที่ 1 ถึง 2 ฉบับมีความสุขมาก
คุณ ข. คุณ น. ได้รับจดหมายแล้วทำตามที่บอก ปรากฏว่าถูกรางวัลที่ 1 ถึง 3 ฉบับ
คุณ ว. ได้รับจดหมายแล้วอยู่เฉยๆ ไม่ทำตาม แต่น้องชายส่งจดหมายแทน น้องชายถูกรางวัลที่ 2 ถึง 2 ฉบับ
คุณ ส. ได้รับจดหมายแล้ว ไม่ปฏิบัติตามที่บอกไว้ในจดหมายเพียง 10 วัน ถึงแก่กรรม
เมื่อท่านได้รับจดหมายนี้แล้ว กรุณาบอกต่อไปในสถานที่ต่างๆ 29 ท่าน จะประสบความสุข ความเจริญ และประสบโชคไม่มีวันที่สิ้นสุด มีผู้ไม่ทำตาม ไม่ศรัทธา ไม่ปฏิบัติตามเหมือน ส.ส. จังหวัด XXXX ที่ไปราชการจังหวัดเตียงเก่า เพียง 7 วัน ก็ถึงแก่กรรม

**** ตัวอย่างการเขียนจดหมายลูกโซ่ในประเทศไทย ( รูปแบบที่ 3.)
พระครูวิจิตร ธรรมโชติท่านบอกตัวอย่างดังนี้
1. ส.ส.จังหวัด XXXX ได้รับจดหมายตำรานี้แล้วไม่บอกใคร และภายใน 5 เดือน ต่อมาตัวเองต้องตาย
2.คุณชนะ ศูนย์หนึ่งได้รับจดหมายแล้วส่งต่อ 20 ฉบับ ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1
3.คุณสั่นฯได้รับจดหมายนี้แล้วเก็บไว้ 20 วัน ก้ป่วยกะทันหัน หลังส่งจดหมายก็หายเป็นปลิดทิ้งจึงถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 3 ทำให้ครอบครัวมีความสุขเมื่อปฏิบัติแล้วท่านมีความสุขโชคดีไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าท่านได้รับจดหมายแล้วไม่เชื่อไม่ศรัทธาเหมือนผู้หญิงที่รับราชการที่เชียงใหม่ ถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวาย
ถ้าท่านอ่านแล้วให้ท่านเขียนคัดลอก หรือ ถ่ายเอกสาร 20 ฉบับไว้ ไปวางที่ต่างๆตามตู้โทรศัพท์
ห้ามนำไปบอกเองต้องใส่ซองให้เรียบร้อยด้วยและเขียนจ่าหน้าซองว่า “พระครูวิจิตร ธรรมโชติ ถึงท่านผู้โชคดีมีลาภและวาสนา” เมื่อท่านได้รับจดหมายไปแล้วท่านจะโชคดีไม่มีที่สิ้นสุด คัดลอกจดหมาย 20 ฉบับ ที่ได้รับส่งต่อภายใน 20 วันแล้วไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขอะไรก็ได้ ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตามถูกกันมาแล้วหลาย


วิวัฒนาการของจดหมายลูกโซ่ (ในความเข้าใจของผู้เขียน) :
สมัยก่อนทางยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ปี ค.ศ. 1888) เน้นเขียนจดหมายลูกโซ่ลงบนกระดาษแล้วส่งต่อๆกัน (ไม่แน่ใจว่าในไทยยุค “กบฏผู้มีบุญอีสาน” ราวปี พ.ศ. 2444-2445 ส่งกันแบบหนังสือใบลาน” หรือไม่?) จดหมายลูกโซ่มีส่งกันต่อๆมาจนยุคปี พ.ศ. 2531 ก็ยังมีส่งกันอยู่ ในไทยเน้นเขียนเป็นจดหมายหลายๆฉบับติดแสตมป์ 2 บาทแล้วส่งต่อไปยังผู้ได้รับโชคร้าย(ดังจำนวนที่เนื้อความในจดหมายระบุไว้ / ซึ่งสมัยก่อนถือเป็นความโชคร้ายเป็นอย่างมากถ้าใครได้รับจดหมายลูกโซ่ เพราะสิ้นเปลืองทั้งเวลาในการคัดลอก-ถ่ายเอกสาร และเงินที่ต้องจ่ายไปในการส่งต่อแต่ละครั้ง…หากคุณเชื่อเนื้อความในจดหมาย)  มาถึงราวยุคปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป ถือเป็นยุคที่ระบบของการติดต่อสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลาย ระบบอินเทอร์เน็ตเริ่มพัฒนาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การส่งจดหมายทาง E-Mail เป็นที่นิยมมากขึ้น จดหมายลูกโซ่ที่เคยเขียนส่งต่อกัน(เขียนลงแผ่นกระดาษ หรือถ่ายเป็นเอกสาร)เริ่มถูกนำมาแปลงลงโปรแกรม Microsoft Office Word เพื่อส่งต่อทาง E-Mail เพิ่มขึ้น  ราวปี พ.ศ.2553 เป็นยุคที่ Facebook เริ่มบูม มีผู้ใช้บริการ Facebook เพิ่มมากขึ้นภายในโลกใบนี้ จวบจนการติดต่อสื่อสารของผู้คนเริ่มไร้ขีดจำกัด กระทั่งเริ่มมีจดหมายลูกโซ่ระบาดในกล่องแชท, ช่อง In Box ในเพจฯเฟสบุ๊กต่างๆ รวมถึงจดหมายลูกโซ่ที่กำลังระบาดอย่างหนักในกลุ่ม LINE เป็นอาทิ

บทส่งท้าย….จดหมายลูกโซ่นั้นมี “ Mana ” หรือพลังอำนาจอันแสนร้ายกาจ เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ และการกระทำของวิญญาณที่มีผลต่อพฤติกรรมบางอย่างและการดำรงชีพของมนุษย์ Mana คืออำนาจนอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติควบคุมไม่ได้  ฉะนั้นผู้ที่เชื่อในจดหมายลูกโซ่จึงมักถูก Mana ของคนส่งจดหมายควบคุม-เล่นงาน-และกระทำการให้เกิดผลทางลบต่อสภาวะทางกาย-ทางจิต-และความนึกคิดได้ คือคนที่เชื่อในเรื่องจดหมายลูกโซ่จะเกิดพฤติกรรมด้านลบบางอย่างโจมตีใส่ แรกๆอาจกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เครียด…จนในที่สุดก็จำต้องไปเขียน-ถ่ายเอกสาร-หรือก๊อปปี้ข้อความส่งต่อจดหมายลูกโซ่นั้นอย่างจำยอมในอำนาจ  ผิดกับผู้ที่ไม่เชื่อในอำนาจของมัน ซึ่งมักไม่มีผลหรือแสดงผลใดใดทั้งสิ้น จดหมายลูกโซ่จึงอาจส่งผลคล้ายการทำ Mass Hypnosis ในกลุ่มชน ที่ต้องการสะกดให้คนที่ถูกจดหมายนั้นชี้นำไปสู่สภาวะ Trance และโน้มนำให้ดิ่งลึกสู่ห้วงแห่ง Transference หรือสภาวะหลับลึกคล้อยตามด้วยอำนาจแห่งการชักจูง(อ้างอิงส่วนอธิบายอำนาจของ “ Mana ” จากงานเขียนของ อาร์ เอช คอดริงตัน ในหนังสือชื่อ The Melanesians: Studies in their Anthropology and Folk-Lore / 1891, และอ้างอิงส่วน Mass Hypnosis โดย กิติกร มีทรัพย์ ในหนังสือซีโนโฟเบีย : กลัวคนแปลกหน้า ปี พ.ศ. 2548 )


#เขียน-รวบรวมเรียบเรียง  :  คุณาพร ไชยโรจน์



เอกสารอ้างอิง

- หนังสือเเละเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ “กบฏผู้มีบุญอีสาน 2444-2445 กับจดหมายลูกโซ่ฉบับแรกของเมืองไทย”
- หนังสือ FIELD GUIDE TO LUCK (มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องรางและเคล็ดลับนำโชค) แต่งโดย ALYS R. YABLON (แปลโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล)
- กิเลน ประลองเชิง บทความ “จดหมายลูกโซ่” ใน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ลงวันที่ 14 ก.ย. ปี 2552 เวลา 05:00
- อาร์ เอช คอดริงตัน ในหนังสือชื่อ The Melanesians: Studies in their Anthropology and Folk-Lore (ปี 1891)
- กิติกร มีทรัพย์ ในหนังสือซีโนโฟเบีย : กลัวคนแปลกหน้า ปี พ.ศ. 2548